';
:ประมวลภาพ:

เปิดใจ ศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ฟันธงศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง ทักษิณ ชินวัตร ล้มล้างการปกครอง

กรณีมีผู้ร้องเรียน ทักษิณ ชินวัตร ล้มล้างการปกครอง ซึ่งจากการสอบถามความคิดเห็นนักวิชาการ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองพบว่า ส่วนใหญ่จะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะนักวิชาการเห็นว่าข้อร้องเรียนทั้งหมด 6 ข้อเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง และมีบางคนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะรับคำร้องบางส่วน แต่มีนายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ฟันธงว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง

จากการเปิดเผยของ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่มีความเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่ล้มล้างการปกครองโดยกล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาในเรื่องล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ สำหรับหลักการพิจารณาก็จะต้องดูว่า ข้อกล่าวหาเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ หากมาดูการยื่นคำร้องพบว่ามีการร้องเรียงไม่ชัดเจน และไม่เป็นที่ประจักษ์ในฐานความผิด ที่สำคัญคำร้องจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือมีพยานบุคคลชี้ให้เห็นว่า มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองตามความหมายของคำว่า "ล้มล้างการปกครอง"

หากมองไปแล้วอาทิ ประเด็นชั้น 14 ของ ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่จำคุกแม้แต่วันเดียว เรื่องเกาะกูด เกี่ยวกับการขุดปิโตเลียม ก็ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง หรือกรณี ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ ชี้นำ นายกฯ แพทองธาร ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง แม้กระทั่งการไปครอบงำพรรคเพื่อไทย โดยเชิญพรรคการเมืองไปปรึกษาหารือ หลังจากที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน หลุดจากเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เข้าข่าย รวมทั้งข้อร้องเรียนที่เหลืออีก 2 ข้อ ดูไปแล้วไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

จึงเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง เพราะไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง นอกจากนี้ มาตรา 49 บอกไว้ว่า ถ้าหากเห็นว่ามีการล้มล้างการปกครอง ให้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าหากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วันหลังจากยื่นคำร้องแล้ว ให้ผู้ร้องสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ทำให้การพิจารณาของอัยการสูงสุดพบว่าการร้องเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ก็จะมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการ 

เรื่องนี้ทำให้มองได้ว่า การล้มล้างการปกครอง จะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบกลั่นกรองก่อน ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องดังกล่าวอัยการสูงสุดเมื่อได้รับคำร้อง จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง และมีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยมองว่าพฤติการณ์ที่ร้อยเรียงมาในคำร้อง ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง จึงได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องและยุติเรื่องดังกล่าว และเมื่ออัยการสูงสุดรับคำร้องแล้ว ไม่เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้นำข้อความของผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาร่วมการพิจารณา เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการพิจารณา วินิจฉัยประกอบกัน ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

หากมองในเรื่องภาษากายของ ทักษิณ ชินวัตร เดินสายพบปะพี่น้องประชาชน รวมทั้งยังมาออกรายการต่างๆ เชื่อว่าทีมกฎหมายเล็งเห็นว่า ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หากตัดสินอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ผมเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้อง ตามที่สื่อต่างๆ สอบถามความคิดเห็นมา โดยมองจากหลักของกฎหมายและพฤติการณ์การแสดงออกของ ทักษิณ ชินวัตร

หากเปรียบเทียบกับมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค กับการที่ ทักษิณ ชินวัตร ถูกร้องว่าล้มล้างการปกครองจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ก่อนหน้านี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องมาตรา 112 ยุบพรรคก้าวไกล หากมองไปแล้ว การที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขมาตรา 112 เป็นการบั่นทอนพระเกียรติและอำนาจ การลดศักดิ์ศรีของพระมหากษัตริย์ หากไปดูรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท การอาฆาตมาดร้าย อยู่ในหมวดของความมั่นคง ฉะนั้นการลดทอนพระราชอำนาจ เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ในลักษณะการใช้หลักการเหตุผลในสภาฯ มาเป็นหลักการ จึงเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองได้ แม้ไม่ใช้กำลังก็ตาม

ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำวินิจฉัยเป็นสารตั้งต้น พร้อมทั้งระบุว่าพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แต่ไม่ถึงขั้นล้มล้าง แต่ถ้าไม่หยุดยั้ง ก็จะถึงเป้าหมายสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของคนกระทำ จึงเป็นที่มาของคดี ม.112 ของพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพราะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะผูกพันกับทุกองค์กร

เมื่อมาพิจารณาคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร จะเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มองไปแล้ว การร้องเรียนชั้น 14 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกหรือไม่ถูกของ เจ้าหน้าที่ และไม่เกี่ยวข้องกับ ทักษิณ ชินวัตร หรือกรณีของเกาะกูด หากเกิดความเสียหาย ความผิดก็จะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือ การครอบงำทางการเมือง ก็ต้องไปดูที่ กกต.หรือ ปปช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบพรรคการเมือง หรือการบริหารราชการ ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

การศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง ทักษิณ ชินวัตร ล้มล้างการปกครอง หากมองเกี่ยวกับส่วนตัวของ ทักษิณ ชินวัตร ก็จะเกิดความชื่นชมต่อผู้ที่ชื่นชอบ ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งมวลชนของพรรคเพื่อไทย แต่อย่าลืม ทักษิณ ชินวัตร ก็มีคนไม่ชอบเหมือนกัน รวมทั้งยังมีคดี ม.112 ที่รอการพิจารณากลางปี 2568 ส่วนพรรคเพื่อไทยจะดีหรือไม่ก็อยู่ที่การบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนพรรคประชาชนก็มีหลายคนจับตาดูอยู่เหมือนกัน และยังเป็นที่ศรัทธาของคนรุ่นใหม่

หากแยกไปแล้วส่วนตัวของ ทักษิณ ชินวัตร ก็ว่ากันไป หลุดเรื่องล้มล้างการปกครอง แต่ก็ยังมีคดีต่างๆ ที่ยังค้างการพิจารณา ไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอุปสรรคมากน้อยเพียงใด ส่วนนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ก็ต้องพิสูจน์การทำงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟส 2 เรื่องกาสิโน แม้กระทั่งเรื่องเกาะกูด หากดำเนินการไปแล้วกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน หากประชาชนไม่ชอบ ก็จะเกิดความเสื่อมให้กับพรรคเพื่อไทยด้วยเหมือนกัน.

ยอดเข้าชม 48 ครั้ง