';
ชาวบ้านร้อง อนุ กมธ.การเงิน การคลัง เอกชนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 24-25 เดือดร้อนหนัก เร่งรัดให้ดำเนินการคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ การเงิน การคลัง โดยมีนายณพล บริบูรณ์ นายสุรจิต บุญยุบล และ รศ.ดร.พ.ต.อ.สมดุลย์ ดำทองสุข ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง และคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ได้เข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีวาระการประชุมที่สำคัญคือการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเชิญตัวแทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ โดยในที่ประชุมได้มีมติให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้กฎหมายที่กำหนด นอกจากนี้จะให้ทางสภาผู้แทนราษฎร เสนอยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติต่างๆ ที่ล้าสมัย อาทิ ประกาศคณะปฏิวัติที่ 2515 สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เพราะไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และขัดกับหลักการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บังคับใช้กฎหมายจะได้ไม่ขัดกัน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
หลังจากการประชุมนายจิตติพจน์กล่าวว่า ปัญหาการกำหนดและกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับการร้องเรียนมาจากประชาชนมากมาย มาจากการกู้เงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ส่งผลให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพง โดยบัตรเครดิตจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 16 เปอร์เซ็นต์ สินเชื่อส่วนบุคคลมีทะเบียนรถเป็นประกันปีละ 24 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีทะเบียนรถเป็นประกันต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด
นายจิตติพจน์กล่าวอีกว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 กำหนดไว้ชัดเจน "ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญาการหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ซึ่งการเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ที่สำคัญยังผิดกฎหมายอีกด้วย ทำให้ประชาชนร้องเรียนกันมาอย่างมากมาย
"ในข้อเท็จจริงธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด ให้เอกชนที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเงิน การธนาคารทำได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ แต่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นบัญญัติว่าทำไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีประกาศให้สามารถเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินได้ ผมชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจผิดมากกว่า โดยอาศัยอำนาจของคณะปฏิวัติ ซึ่งอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน สมัยปี 2515 คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง"นายจิตติพจน์กล่าว
นายจิตติพจน์กล่าวอีกว่าทางคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ จึงพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากมาดูในเรื่องศักดิ์ของกฎหมาย ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยต่ำกว่ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการเก็บดอกเบี้ยจะเก็บเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ จึงทำไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้จะได้เสนอข้อทักท้วงไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกแนวทางหนึ่งคือ เสนอเรื่องเข้าสู่สภาเพื่อชำระกฎหมายที่ไม่ทันสมัย เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติจะได้ไม่ทำผิดหลักกฎหมาย
ยอดเข้าชม 8 ครั้ง